ครึ่งปีแรกกลุ่มที่มีการขยายตัวจะเป็นออนไลน์ นอน-ฟู้ด ห้างสรรพสินค้า เสื้อผ้าแฟชั่นความงามและไลฟ์สไตล์ ส่วนกลุ่มอาหารและของใช้ หรือกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) ทรงตัว หรือ ไม่มีการเติบโต ขณะที่ “ร้านสะดวกซื้อ” และ “ซูเปอร์มาร์เก็ต” เติบโตดี โดยเฉพาะที่อยู่ในศูนย์การค้า ทั้งทำเลกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคกลาง ส่วนต่างจังหวัด ภาคเหนือ และภาคกลางทรงตัว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลดลงเล็กน้อย กลุ่มไฮเปอร์มาร์เก็ตและค้าปลีกท้องถิ่น “ติดลบ” กลุ่มค้าปลีกจำหน่ายสินค้าวัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่ง-ซ่อมแซมบ้าน หดตัวจากงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐล่าช้า
ครึ่งปีหลังนี้มี 6 ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่
1.ภาพรวมเงินเฟ้อและดอกเบี้ยยังไม่ลดลง
2.กำลังซื้อไม่ฟื้นตัวและยังเหือดแห้ง ทำให้เงินในระบบหายไป
3.ต้นทุนการดำเนินธุรกิจสูง
4.การปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำวันละ 400 บาท มีผลต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างมาก จากค่าใช้จ่ายที่ตามมา
5.ภาพรวมงบประมาณประจำปีผ่านการพิจารณาแล้วแต่เงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไม่รวดเร็ว
6.นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต จะเป็นฝันค้างหรือไม่
แนะทางรอดรับมือความเสี่ยงครึ่งปีหลัง
ทั้งนี้ แนวทางรับมือเศรษฐกิจไทยที่ยังอยู่ในภาวะตึงตัว ภาคธุรกิจจะต้อง
1.ให้ความสำคัญกับการบริหารสภาพคล่อง เพราะ Cash is King ธุรกิจควรมีสภาพคล่อง 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือนสำรองไว้
2.การบริหารสินค้าคงคลัง (Inventory) สำคัญ อย่าติดกับดักกำไรขั้นต้น (Gross margin) 25-30% ต้องคำนวณว่า เมื่อมีสินค้าคงคลังมากขึ้นจะขายหมดเมื่อไร
3.ยึดสิ่งที่ลูกค้าต้องการ
4. การเติบโตของธุรกิจต้องมีพันธมิตร อย่าไปคนเดียว ธุรกิจข้างหน้าเดินคนเดียวไม่ได้ โลกดิจิทัลเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก
5.ต้องรู้ให้เท่าทันเทคโนโลยีและเอไอ นำมาปรับใช้ให้ธุรกิจดีขึ้น
ดัชนีเชื่อมั่น 3 เดือนข้างหน้าแนวโน้มหดตัว
ขณะที่ภาพรวมดัชนีความเชื่อมั่น (RSI) ค้าปลีกและบริการเดือน มิ.ย.2567 อยู่ที่ 36.7 จากเดือน ธ.ค.ปีก่อน อยู่ที่ 57.8 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่น 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 43.0 มีทิศทางลดลง และลดลงทุกองค์ประกอบของดัชนีความเชื่อมั่น ทั้งยอดใช้จ่ายสาขาเดิม การใช้จ่ายต่อครั้ง และความถี่ในการใช้จ่าย
ส่วนภาคการท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวสะสมเดือน ส.ค. 22 ล้านคน แต่ภาครัฐประเมินทั้งปีจะได้นักท่องเที่ยวรวม 40 ล้านคน ส่วนภาพรวมคนไทยท่องเที่ยวในประเทศลดลง 24.9% สะท้อนว่าคนไทยระมัดระวังการใช้จ่ายสูง
ผลสำรวจผู้ประกอบการไทยเดือน มิ.ย. พบว่า 50% มีสินทรัพย์เกินความเหมาะสม ยอดขายต่ำกว่าที่คาด จากเดิมคาดว่าครึ่งปีแรกจะดี แต่ “ไม่ดี” จึงเกิดปัญหาสต็อกบวม ราว 5% มีสต็อกสะสมเกิน 1 ปี ต้องเร่งระบายและทำโปรโมชั่น ทำให้ภาพรวมยอดขายลดลงทั้งหมด ส่วนไตรมาส 3 สินค้าอุปโภคบริโภคที่หดตัวลงมาเกือบถึงก้นเหว ดังนั้นระยะต่อไปจะฟื้นตัวขึ้นเพราะคนต้องกินต้องใช้
กลุ่มรายได้ปานกลางเริ่มชะลอใช้จ่าย
หากพิจารณาแนวโน้มกลุ่มสินค้าพรีเมียม ห้างสรรพสินค้า และแฟชั่นต่างๆ สะท้อนว่า คนรายได้ปานกลางเริ่มซื้อน้อยลง ทำให้ยอดขายเริ่มลดลง ส่วนสินค้าวัสดุก่อสร้าง มีการสั่งซื้อลดลง จากอสังหาริมทรัพย์หดตัว ถือว่าเป็นเรื่องน่ากลัว
“การกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องมาจากซัพพลายไซส์และดีมานไซส์ ซึ่งซัพพลายไซส์มาจากอสังหาริมทรัพย์และรถยนต์ ภาคอสังหาริมทรัพย์ มาจากการสร้างบ้าน สร้างตึก ใช้วัสดุในประเทศ 90% ใช้แรงงานในประเทศ ต้องทำให้มีการซื้อบ้านมากขึ้น ส่วนรถยนต์ ยอดขายน้อยลงเช่นกัน ซัพพลายไซส์ทั้ง 2 จึงไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ”
ทั้งนี้ การฟื้นตัวของแต่ละภาคเศรษฐกิจไม่เท่ากัน ดัชนีความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจค้าปลีกกระจุกตัวในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคกลาง ส่วนภาพรวมจีดีพีของประเทศ สัดส่วน 43% อยู่ที่ กรุงเทพฯ ปริมณฑล ภาคกลาง รวมถึงภาคตะวันออกซึ่งแนวโน้มดีที่สุด จากปัจจัยหลายด้าน เช่น มีโรงงานจำนวนมาก มีนิคมอุตสาหกรรม มีการท่องเที่ยวและภาคเกษตรกรที่เติบโตจากผลผลิตทางการเกษตรและผลไม้ ซึ่งหากภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มไม่ดี ยังมีภาคเกษตรกรและท่องเที่ยวรองรับ ทำให้เศรษฐกิจจังหวัดชลบุรีและระยอง ขยายตัวสูง แตกต่างจากภาคอื่นๆ ที่อยู่ในภาวะลำบากและไม่มีตัวช่วย
เศรษฐกิจอีสานน่าห่วงสุดในรอบ 30 ปี
อีสานอินไซด์ ระบุว่า ภาพรวมเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง สะท้อนศักยภาพเศรษฐกิจอีสานในภาพรวมที่โตต่ำกว่าคาดการณ์ โดยเฉพาะเดือน ก.ค. ขยายตัว 2.2% ต่ำสุดและน่าห่วงสุดในรอบ 30 ปี จากก่อนหน้านี้เคยขยายสูง 6.5% เป็นผลพวงจากวิกฤติโควิด-19 กระทบกิจกรรมเศรษฐกิจเกือบทั้งหมดลดลงชัดเจน กดดันภาคการค้า ภาคธุรกิจชะลอตัวลง