
ผลสำรวจความเชื่อมั่น (Retail Sentiment Index) ของผู้ประกอบการค้าปลีก (ความร่วมมือระหว่าง สมาคมผู้ค้าปลีกไทย และธนาคารแห่งประเทศไทย) ประจำเดือน เม.ย.2568 พบว่า ดัชนี RSI เพิ่มขึ้น 6.0 จุด เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค.2568 โดยปรับเพิ่มขึ้นในทุกองค์ประกอบ
นับตั้งแต่ ยอดใช้จ่ายต่อใบเสร็จ (Shopping Per Basket) และความถี่ในการใช้บริการ (Frequency of Shopping) รวมถึง เพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาคและทุกประเภทของร้านค้ายกเว้นร้านค้าประเภทวัสดุก่อสร้าง
การเพิ่มขึ้นของดัชนีเดือน เม.ย. เทียบ มี.ค. นับว่าเป็นเรื่องปกติของฤดูการขาย เนื่องจากเดือน เม.ย. มีวันหยุดยาว 2 ช่วง ก่อนเทศกาลและระหว่างเทศกาลวันสงกรานต์ซึ่งเป็นเทศกาลใหญ่ประจำปีของไทย บวกกับแรงส่งเสริมการขายของร้านค้าที่ลดกระหน่ำซัมเมอร์เซล เป็นหลัก
ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่น 3 เดือนข้างหน้าลดลงจาก 51.5 จุด มาอยู่ที่ 47.0 จุด สะท้อนถึงความกังวลต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นทางการเมืองภายในประเทศ
ภาพรวมเดือนเม.ย.2568 เป็นอย่างไร
ในรายละเอียดของดัชนี RSI เดือน เม.ย.2568 ที่เพิ่มขึ้น 6.0 จุด เมื่อเทียบเดือน มี.ค.2568 จะพบว่า ปรับเพิ่มขึ้นทุกองค์ประกอบของดัชนี
SSSG (MoM) จาก 43.8 จุด ไปที่ 48.8 จุด เพิ่มขึ้น 5.0 จุด
Spending Per Bill จาก 42.7 จุด ไปที่ 47.0 จุด เพิ่มขึ้น 4.3 จุด
Frequency of Shopping จาก 39.0 จุด ไปที่ 47.8 จุด เพิ่มขึ้น 8.8 จุด
สะท้อนการใช้จ่ายช่วงวันหยุดนักขัตฤกษ์ วันจักรี และเทศกาลวันสงกรานต์ ประชาชนพาลูกหลานออกมาทำกิจกรรมนอกบ้านมากขึ้น ส่งผลให้การเพิ่มขึ้นของดัชนี Frequency Of Shopping เพิ่มขึ้นถึง 8.8 จุด ผนวกกับแรงส่งเสริมการขายของร้านค้าสร้างให้เกิดการจับจ่ายเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อย ผลักดันดัชนี Spending Per Bill เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 4.3 จุด ภายใต้ภาวะที่กำลังซื้อผู้บริโภคยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใดๆ จากภาครัฐ
เมื่อพิจารณามิติภูมิภาค ดัชนีกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคกลาง เพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประชาชนส่วนใหญ่เดินทางกลับภูมิลำเนา สังเกตได้จากการสัญจรในกรุงเทพฯ ค่อนข้างเบาบาง ในทางตรงกันข้าม ภาคตะวันออก โดยเฉพาะเขตเมืองท่องเที่ยว ค่อนข้างหนาแน่นด้วยนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ภาคเหนือ เป็นภูมิภาคเดียวที่ดัชนีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นมากอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ การเพิ่มขึ้นมาจาก Frequency of Shopping (มากกว่า 10%) สะท้อนถึงจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติที่เพิ่มขึ้น และเป็นปีที่ค่าฝุ่น PM 2.5 ต่ำ เทียบปีก่อน
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การเพิ่มขึ้นจาก Frequency of Shopping (มากกว่า 10%) เช่นเดียวกับภาคเหนือ สะท้อนจำนวนประชาชนที่เดินทางกลับภูมิลำเนาที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ Shopping Per Basket ทรงตัว สะท้อนถึงกำลังซื้อที่ยังอ่อนแอ ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังการจับจ่าย ภาคใต้ ดัชนีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับภาคเหนือแต่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การเพิ่มขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่น เป็นการเพิ่มขึ้นของ Frequency of shopping (มากกว่า 5%) สะท้อนจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ยอดซื้อต่อใบเสร็จ Shopping Per Basket ลดลง สะท้อนกำลังซื้อผู้บริโภคยังไม่ฟื้นตัวและระมัดระวังใช้จ่าย
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการเมื่อจำแนกตามประเภทร้านค้าปลีกเปรียบเทียบระหว่างเดือน เม.ย.2568 กับเดือน มี.ค.2568 พบว่าเพิ่มขึ้นทุกประเภท ผลจากประชาชนออก “เดินทาง-ใช้จ่าย-กินดื่ม” เทศกาลวันสงกรานต์ ยกเว้น ร้านค้าวัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลที่ไม่เป็นปกติ
ภาพรวม 4 เดือนแรกของปี 2568 เป็นอย่างไร
แม้ว่าดัชนีความเชื่อมั่น เดือน เม.ย. จะเพิ่มขึ้น 6.0 จุด แต่เมื่อพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นตลอด 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเดือน เม.ย. มีทิศทางที่อ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับดัชนีในช่วงเดียวกัน 3 ปีที่ผ่านมา ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมไตรมาส 1/2568 อยู่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของ 3 ปีก่อนอย่างชัดเจน ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นเดือน เม.ย.ปีนี้ ใกล้เคียงกับเดือน เม.ย.ปีก่อน เป็นสัญญาณที่บ่งบอกแนวโน้มความอ่อนตัวของเศรษฐกิจในช่วงต่อไป คาดการณ์ว่า ดัชนียังคงลดลงไปเรื่อยๆ จนถึงปลายไตรมาส 3 น่าจะเป็นจุดต่ำสุดของดัชนีปีนี้
ทิศทางข้างหน้ายังอึมครึม “ไม่สดใส”
ธุรกิจค้าปลีกซึ่งเป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยในการขับเคลื่อนการบริโภคภายในประเทศยังคงมีความไม่แน่นอน สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก RSI ไตรมาสแรกของปี 2568 ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 50 หลังขยับขึ้นไปเกินระดับ 50 ในช่วงไตรมาสสุดท้ายปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้บริโภคที่มีรายได้ระดับบนชะลอการใช้จ่าย เพราะไม่เชื่อมั่นในนโยบายเศรษฐกิจและสถานการณ์ทางการเมือง ส่วนผู้บริโภคระดับกลางลงมา กำลังซื้อยังอ่อนแอ รายได้ไม่เพิ่ม แต่ค่าครองชีพพุ่งกระฉูด
ในฝั่งผู้ประกอบการ ต้นทุนการทำธุรกิจยังมีแนวโน้มปรับขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง ราคาสินค้าไม่ลด สภาพคล่องประเทศมี แต่กู้ได้ยาก ต้นทุนราคาพลังงาน ราคาวัตถุดิบ และการขนส่งโลจิสติกส์ มีแต่จะเพิ่ม รวมถึงแนวโน้มการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งที่ 2 ของปีก็จะมา เมื่อสินค้ามีราคาแพงขึ้นจะซ้ำเติมกำลังซื้อผู้บริโภคที่อ่อนแออยู่แล้วให้ทรุดลงไปอีก เป็นความท้าทายต่อความสามารถในการดำรงให้อยู่รอดของธุรกิจค้าปลีกอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
https://www.bangkokbiznews.com/business/business/1180463