ReadyPlanet.com
dot
dot
Newsletter

dot
Facebook


ดัชนีความเชื่อมั่น เดือนกันยายน 2564

 ชี้ผ่อนปรนมาตรการฯ ดันดัชนีความเชื่อมั่นค้าปลีกกันยายนดีขึ้น 2 เท่า

ผู้ประกอบการยังกังวลเรื่องวัคซีนและภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข

วอนรัฐอัดฉีด ช้อปดีมีคืนกระตุ้นเศรษฐกิจไทยอย่างเร่งด่วน

 

 สมาคมผู้ค้าปลีกไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นเดือนกันยายน 2564 เพิ่มขึ้นสองเท่า ภายหลังจากรัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมแบบเข้มงวดและอนุญาตให้หลายกิจการกลับมาดำเนินธุรกิจได้ ผู้ประกอบการยังคงกังวลในเรื่องของจำนวนวัคซีนที่เพียงพอ และยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายตามมาตรการสาธารณสุขที่จะเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่า สมาคมฯ ยังขอรัฐพิจารณาฟื้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ “ช้อปดีมีคืน” เพื่อสร้างรายได้และเม็ดเงินหมุนเวียนให้กับภาคค้าปลีกและบริการ และช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย 

นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า “ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นค้าปลีกในเดือนกันยายน ส่งสัญญาณที่ดีโตขึ้น 2 เท่า เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคมในปีเดียวกัน เป็นผลจากมาตรการการผ่อนปรนให้เปิดกิจการและธุรกิจเพิ่มเติมในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และคอมมูนิตี้มอลล์ ส่งผลให้ความถี่ในการจับจ่าย Frequency of Shopping เพิ่มมากขึ้น แต่ยอดการใช้จ่ายต่อครั้ง Spending per Basket เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย สะท้อนให้เห็นถึงกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และต้องการการกระตุ้นจากภาครัฐเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ 

โดยมีข้อสรุปของดัชนีความเชื่อมั่นในประเด็นที่สำคัญ ดังต่อไปนี้

 

1.       ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก Retail Sentiment Index (RSI) เดือนกันยายน 2564 ปรับตัวดีขึ้นกว่า 2 เท่าอย่างชัดเจน จากที่ระดับ 25.0 ในเดือนสิงหาคม มาอยู่ที่ระดับ 59.0 ในเดือนกันยายน หลังการประกาศผ่อนคลายมาตรการฯ ของรัฐ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก RSI ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ก็ปรับตัวดีจากระดับที่ 47.8 เดือนสิงหาคม มาอยู่ที่ระดับ 63.8 ในเดือนกันยายน ซึ่งเพิ่มขึ้นเพียง 25% ในขณะที่ความเชื่อมั่นสภาวะปัจจุบันเพิ่มขึ้นกว่า 200% สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการยังมีความวิตกกังวลอยู่มากของมาตรการการผ่อนคลาย และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังไม่มีความชัดเจน

 

2.    ดัชนีความเชื่อมั่น RSI แยกตามภูมิภาค ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการต่อยอดขายเดิมเดือนกันยายนดีขึ้นอย่างชัดเจนในทุกภูมิภาค และอยู่เหนือระดับค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 ยกเว้น ภาคเหนือ และภาคใต้ ซึ่งยังต่ำกว่าระดับค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 ต่อเนื่องมานับจากเดือนพฤษภาคม เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่ถูกผลกระทบจากการท่องเที่ยวที่หดหาย และการเลื่อนการบินภายในประเทศ

 

3.    ดัชนีความเชื่อมั่น RSI แยกตามประเภทร้านค้าปลีก มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกประเภทธุรกิจอย่างชัดเจน โดยเฉพาะร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ตกแต่ง ซ่อมบำรุง (Hard Line) แต่ในขณะที่ร้านค้าปลีกประเภทร้านสะดวกซื้อที่ดัชนีความเชื่อมั่นยังอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ระดับ 50 เป็นผลจากมาตรการเคอร์ฟิว ส่งผลกระทบยอดขายในรอบดึกซึ่งมีสัดส่วนราว 35% ของยอดขายต่อวันหายไป รวมถึงมาตรการ WFH และการปิดสถานศึกษาส่งผลให้ปริมาณลูกค้าลดน้อยลง

 

 ทั้งนี้ ยังมีบทสรุปประเด็นสำคัญของ “การประเมินผลกระทบต่อยอดขายและกำลังซื้อและแนวโน้มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จากมุมมองผู้ประกอบการ” ในเดือนกันยายน ดังนี้

1.       68% ผู้ประกอบการคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 3 น่าจะหดตัวถึง 30% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

2.       57% ผู้ประกอบการระบุว่ายอดขายในไตรมาส 3 น่าจะลดลงมากกว่า 50% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว

3.       73% ของผู้ประกอบการคาดว่า สถานการณ์จะกลับมาใช้ชีวิตปกติได้ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 ซึ่งเป็นผลจากการกระจายวัคซีนให้กับประชาชนได้ตามเกณฑ์

4.       26% จะเปิดเป็นบางส่วนหรือปิดชั่วคราว แม้ว่าภาครัฐจะผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ก็ตาม

5.       ปัจจัยที่ส่งผลต่อธุรกิจของในสถานการณ์ปัจจุบัน

-          83%   มาตรการเคอร์ฟิวมีผลต่อยอดขายมาก

-          58%   กำลังซื้อผู้บริโภคหดหาย ไม่ฟื้นตัวเร็ว

-          42%   ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น

-          33%   มีบุคคลากรที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนอีกมาก

-          33%   ค่าใช้จ่ายตามประกาศ Covid Free Setting บานปลาย

6.       90% ไม่มีความมั่นใจในนโยบายที่ภาครัฐประกาศจะเปิดประเทศ 120 วัน

 

4 ข้อเสนอต่อภาครัฐ

1.             ภาครัฐต้องเร่งฟื้นโครงการ “ช้อปดีมีคืน” อย่างเร่งด่วน เพื่อสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ กระตุ้นมู้ดการจับจ่ายในช่วงไฮซีซั่นให้กลับมาคึกคัก

2.             ภาครัฐใช้มาตรการทางภาษีเพื่อช่วยผู้ประกอบการในด้านค่าใช้จ่ายทางสาธารณสุข นอกเหนือจากการลดหย่อนภาษี 1.5 เท่าของค่าใช้จ่าย ATK

3.             ภาครัฐต้องสร้างความชัดเจนในการนำมาตรการ Covid Free Setting และ Universal Prevention โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการสามารถปฎิบัติได้ง่ายและมีขั้นตอนที่ชัดเจน

4.             ภาครัฐเร่งการกระจายการฉีดวัคซีนให้รวดเร็วและเข้าถึงประชาชนมากกว่า 70% ของประชากรทั้งหมดของประเทศ

 

            จะเห็นได้ว่ามาตรการผ่อนปรนฯ เป็นกุญแจสำคัญที่เรียกความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจกลับคืนมา และยังเป็นการสร้างเม็ดเงินเข้าสู่ระบบค้าปลีกและบริการได้อย่างทันท่วงที อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรเร่งการกระจายการฉีดวัคซีนให้ได้ 70% ของประชากรทั้งประเทศตามที่ได้ตั้งเป้าไว้ เพื่อจะได้เปิดประเทศอย่างปลอดภัยและเร็วที่สุด อีกปัจจัยที่สำคัญ  ที่จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4 ซึ่งเป็นโค้งสุดท้ายของปีนี้ ผมขอเสนอให้นำมาตรการ ช้อปดีมีคืนกลับมาใช้อย่างเร่งด่วน เพราะจะเป็นการอัดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายฉัตรชัย กล่าวทิ้งทาย

 

 

 




ประชาสัมพันธ์ PR News

ดัชนีความเชื่อมั่น เดือนกุมภาพันธ์ 2565 article
ดัชนีความเชื่อมั่น เดือนพฤษภาคม 2564
ดัชนีความเชื่อมั่น เดือนเมษายน 2564
ดัชนีความเชื่อมั่น เดือนมีนาคม 2564
ดัชนีค้าปลีก กุมภาพันธ์ 2564
กิจกรรมของสมาคมฯปี 2563
กรมอนามัย ขอเชิญชวนผู้ประกอบการ เจ้าของสถานบริการ ร่วมประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์ม Thai Stop COVID (TSC)
New Normal Retailer
ขอเชิญชวนสมัครสมาชิกสมาคมฯ ปี 2564
ลงทะเบียน ผู้ที่ยังมิได้รับการอบรม ผู้สัมผัสอาหาร ด่วน
ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ONLINE เริ่ม 7 ธ.ค. 63
เคาะ “ช้อปดีมีคืน” กระตุ้นเศรษฐกิจ 1.1 แสนล้าน ดัน GDP 0.30 %
รัฐบาลอนุมัติ ช้อปดีมีคืน เพิ่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
คู่มือและเอกสาร : การอบรมผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหาร
ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2563 (22/7/63)
HR committee Meeting 18/02/2563



Copyright © 2014 All Rights Reserved.