(บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิได้ผูกพันเป็นความเห็นขององค์กรที่สังกัด)
- ดัชนี RSI ภาพรวมลดลงจาก 57.8 จุดในเดือน ธ.ค. มาอยู่ที่ระดับ 36.7 จุด ในเดือน มิ.ย. ลดลง 21.1 จุด แสดงถึงความเชื่อมั่นที่ลดลงอย่างมาก สะท้อนให้เห็นถึงการหดตัวที่ชัดเจนในภาคธุรกิจค้าปลีกและบริการ
- ดัชนีความเชื่อมั่น 3 เดือนข้างหน้า ลดลงจาก 58.2 จุดในเดือน ธ.ค. มาอยู่ที่ระดับ 43.0 จุด ในเดือน มิ.ย. ลดลง 15.2 จุด บ่งบอกว่าผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น
- SSSG (MoM) ลดลงจาก 65.8 จุด ในเดือน ธ.ค. มาอยู่ที่ระดับ 39.1 จุด ในเดือน มิ.ย. ลดลง 26.7 จุด บ่งบอกถึงการเติบโตของยอดขายในร้านค้าเดิมที่ลดลง ซึ่งอาจหมายถึงการลดลงของความถี่ในการใช้จ่ายหรือการลดลงของกำลังซื้อของลูกค้า
- Spending per Basket ลดลงจาก 58.9 จุด ในเดือน ธ.ค. มาอยู่ที่ระดับ 37.5 จุด ในเดือน มิ.ย. ลดลง 21.4 จุด บ่งบอกถึงการลดลงของกำลังซื้อของลูกค้า
- Frequency of Shopping ลดลงจาก 58.9 จุด ในเดือน ธ.ค. มาอยู่ที่ระดับ 40.0 จุดในเดือน มิ.ย. ลดลง 18.9 จุด บ่งบอกถึงความถี่ที่ลดลงในการซื้อสินค้า ซึ่งอาจสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการซื้อของลูกค้า
โดยภาพรวม การบริโภคแม้จะยังมีการขยายตัว แต่การเติบโตชะลอลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับปี 2566 ข้อมูลจาก กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อัปเดตสถานการณ์ท่องเที่ยวล่าสุด เผยว่าตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-30 มิ.ย. 2567 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเที่ยวไทยทะลุ 17.9 ล้านคนแล้ว สร้างรายได้ 825,541 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม จาก รายงาน ของ AOT จำนวนเที่ยวบินในประเทศที่ลดลง 24.9% YoY ลดลงมากขึ้นเมื่อเทียบกับที่ลดลง 20.5% ในเดือนพ.ค. สะท้อนว่า ผู้บริโภคคนไทยลดทำกิจกรรมนอกบ้าน การบริโภคเป็นไป แค่ความจำเป็น ในขณะที่ค่าครองชีพก็ยังคงสูง ผู้บริโภคจึงต้องระมัดระวังในการจับจ่าย ในอีกด้านหนึ่ง
ผู้ประกอบการมีภาระต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ค่าสาธารณูปโภคและค่าขนส่งที่ปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงสต็อกสินค้าที่สูงขึ้น จากการสอบถามผู้ประกอบในเดือน มิ.ย. พบว่า 56% ของผู้ประกอบการมีสต็อกสินค้าสูงเกินความเหมาะสม (1-3 เดือน) และ สาเหตุของสต็อกสินค้าเกินความเหมาะสม 66% เกิดจากยอดขายต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้
ธุรกิจฟื้นตัว แต่ละภาคไม่เท่ากัน
การฟื้นตัวแต่ละภาคเศรษฐกิจไม่เท่ากัน ดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจค้าปลีก กระจุกตัวอยู่ในเขตกรุงเทพปริมณฑลและภาคกลาง ส่งผลต่อการฟื้นตัวของกำลังซื้อในแต่ละภูมิภาคและในแต่ละระดับรายได้แตกต่างกัน กำลังซื้อยังดีอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะฟื้นตัวช้ากว่าภาคอื่นๆ ขณะเดียวกัน กลุ่มที่รายได้น้อย ก็จะฟื้นตัวช้ากว่ากลุ่มที่มีรายได้ปานกลางและมากเช่นเดียวกัน
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา คาดการณ์ภาพรวม ธุรกิจค้าปลีกและบริการในปี 2567 จะมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 4.4 ล้านล้านบาท เติบโตราว 3-7 % เมื่อเทียบกับ GDP 2567 ที่คาดว่าจะเติบโต 3.2-3.8% แต่เมื่อมีการปรับลด GDP จากหลายสำนัก ส่งผลให้ ธุรกิจค้าปลีกและบริการถูกปรับลดการเติบโตลงมาเป็น 2-5% (ขึ้นอยู่กับประเภทของร้านค้าปลีก)
โดยคาดว่า กลุ่ม Store-base retailing จะกลับมามีมูลค่าเท่าก่อนช่วงโรคระบาด ส่วน Non-store retailing ยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยสรุป ภาคการค้าปลีกค้าส่งและบริการ ปี 2567 จะค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างเนิบๆ
ครึ่งปีหลัง ปี2567 เหนื่อยและหนักกว่าครึ่งปีแรก
ปัจจัยหลักที่จะกดดันการขยายตัวอย่างยากลำบากของธุรกิจค้าปลีกค้าส่งในครึ่งปีหลัง ประกอบด้วย
1.เงินเฟ้อไม่ลด ดอกเบี้ยก็จะไม่ลดเช่นกัน
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นเนื่องจากเงินเฟ้อพลังงานและสินค้าอาหารสด ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นเล็กน้อยซึ่งมีแนวโน้มจะยังคงสูงต่อไป ปัญหาข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ อาจมีการปรับราคาสูงขึ้นอีก นอกเหนือจากสินค้าราคาแพง สินค้าบางชนิดก็อาจจะขาดแคลนอีกด้วยจากปัจจัยความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์
2.กำลังซื้อไม่เพียงแค่ไม่ฟื้นตัวแต่ยังเหือดแห้ง
การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่ำจากรายได้ฟื้นตัวช้าและภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังสูง ระดับหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ในระดับที่น่ากังวล โดยข้อมูล ณ สิ้น ปี 2566 ระดับหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยเพิ่มขึ้นสูงถึง 91.3% เมื่อเทียบกับปี 2557 ที่ระดับ 79.8% นอกจากนี้ ยังพบว่าครัวเรือนไทยออมน้อย เป็นหนี้เร็ว และเป็นหนี้นาน
3.ต้นทุนการทำธุรกิจยังคงปรับขึ้นสูงต่อไป
ต้นทุนราคาพลังงาน ราคาวัตถุดิบ และการขนส่ง และค่าสาธารณูปโภค อาจปรับเพิ่มสูงขึ้นต่อไป จากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์กระทบต่อการขนส่งน้ำมันและวัตถุดิบ อย่างไรก็ตาม ที่เพิ่มเติมในครึ่งปีหลังและค่อนข้างวิกฤติก็คือ สต็อกสินค้าสูงเกินความเหมาะสมมาก จากการสำรวจพบว่า 44% มีสต็อกสินค้าเกินความเหมาะสม มากกว่า 3 เดือน จนถึง 12 เดือน ซึ่งจะส่งผลสภาพคล่องทางการเงินหากไม่ได้รับการแก้ไขโดยเร็ว จะส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจค้าปลีกค้าส่งลดลง
4.ผลกระทบจากการปรับค่าจ้างแรงงาน
ผู้ประกอบการขนาดเล็กและย่อมอาจจะต้องปิดกิจการเป็นจำนวนมากหากมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ สมมติฐาน เมื่อคิดจากวันทำงาน 26 วัน จะได้ว่า ค่าใช้จ่ายนายจ้างด้านแรงงานเพิ่มขึ้น16,942 บาทต่อคนต่อปี หรือประมาณ 1,412 บาทต่อคนต่อเดือน หากสถานประกอบการจ้างงานต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่กำหนด 30 คน จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 4,065,990 บาท หากต้องคิดถึงการต้องปรับค่าจ้างตามลำดับขั้นสำหรับลูกจ้างที่ได้ค่าจ้างเกิน 400 บาท อีกหนึ่งก้อน ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น อาจถึง 5 ล้านบาทต่อปี ดังนั้น ธุรกิจมียอดขาย 300 ล้าน กำไรสุทธิจะเป็น 3-9 ล้านบาท ในขณะที่ค่าใช้จ่ายต่อการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ อาจถึง 5 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจากข้อมูล วิสาหกิจขนาดกลางค้าปลีกค้าส่ง ธุรกิจที่มีรายได้ไม่เกิน 50-300 ล้านบาทต่อปี และการจ้างงานไม่เกิน 30-100 คน ซึ่งมีมากกว่า 9 แสนราย
5.โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต
10,000 บาทให้ประชาชนไทย 50 ล้านคน ในไตรมาส4 ปี 2567 นี้ จะต้องใช้เงินจาก 3 แหล่ง 1) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท 2) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท 3) ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ดูแลกลุ่มเกษตรกร 17 ล้านคนเศษ ผ่านกลไกงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 จำนวน 172,300 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดต้องผ่านกระบวนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา คาดว่า กว่าจะดำเนินการได้ก็ราวเดือน ธ.ค. ซึ่งอีกกว่า 4-5 เดือน วัตถุประสงค์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจจะไม่ทันกาล
6.เสนอให้ภาครัฐผลักดันโครงการกระตุ้นการจับจ่ายระยะสั้น
(ช่วง Low Season ก.ค.-ต.ค.) ก่อนโครงการดิจิทัล วอลเล็ต อาทิ โครงการ “คนละครึ่ง” ซึ่งเป็นโครงการที่กระจายรายได้ในระดับรากหญ้า ควรนำมาพิจารณา รวมถึง “Easy E-Receipt” ที่กระตุ้นการจับจ่ายของผู้มีรายได้ปานกลางขึ้นไปและยังมีกำลังซื้ออยู่ ให้จับจ่ายได้ในวงเงิน 100,000 บาทในช่วง 3 เดือน (ส.ค.-ต.ค.) ซึ่งโครงการนี้ใช้งบประมาณน้อยมาก
ครึ่งปีหลัง ปี 2567 เหนื่อยและหนักกว่าครึ่งปีแรก
ฉบับก่อน จบไว้ที่ปัจจัยหลักที่กดดันการขยายตัวอย่างยากลำบากของธุรกิจค้าปลีกค้าส่งในครึ่งปีหลัง อาทิ เงินเฟ้อไม่ลด ดอกเบี้ยก็จะไม่ลดเช่นกัน กำลังซื้อไม่เพียงแค่ไม่ฟื้นตัวแต่ยังเหือดแห้ง ต้นทุนการทำธุรกิจยังคงปรับขึ้นสูงต่อไป ผลกระทบจากการปรับค่าจ้างแรงงานผู้ประกอบการขนาดเล็กและย่อมอาจจะต้องปิดกิจการเป็นจำนวนมาก โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท อาจจะไม่ทันกาล
แนะ 5 กลยุทธ์รับมือเศรษฐกิจตึงตัวครึ่งปีหลัง
อย่างไรก็ตาม เพื่อเอาตัวรอดท่ามกลางวิกฤติระยะสั้น ผู้เขียนขอแนะนำโฟกัส 5 กลยุทธ์สู้ศึกครึ่งปีหลัง ได้แก่
1.Cash is King
ครึ่งหลังของปี 2567 จะเป็นอีกปีที่ท้าทายผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่ง ที่ต้องปรับตัวรับกับกำลังซื้อที่หดหาย เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า การบริหารจัดการสภาพคล่องเงินสดที่ดี ถือว่า เป็นจุดเป็นจุดตายของธุรกิจ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ใส่ความพยายามอย่างมากไปที่การลดรายจ่าย แต่ลืมคิดไปว่า เงินสดส่วนใหญ่ไปจมในสต็อกสินค้า สต็อกเปรียบเสมือนเงินสด เพราะสต็อกมีมากๆ และอยู่นานเกินกว่าเครดิตเทอมที่ซัพพลายเออร์ให้ก็จะทำให้กระแสเงินสดขาดสภาพคล่องได้
2.Inventory
สำคัญ กว่า เปอร์เซ็นต์ (%) Gross Margin โดยทั่วไป การจัดซื้อของผู้ประกอบการค้าปลีกในบ้านเราจะเจรจาต่อรองด้วยตัวเลข % Gross Margin หรือ Gross Profit (GP) ถ้าอยากได้ % Margin สูงขึ้น ก็ต้องแลกด้วยซื้อเป็นจำนวนมาก (Volume Purchase) แม้กำไรจะเพิ่มขึ้น แต่ถ้าการหมุนรอบของสินค้าต่ำ สิ่งที่ตามมาก็คือ สต็อกมันจะบวม! ก็อาจจะขาดดุลกระแสเงินสดและอาจถึงกับต้องเลิกกิจการได้
3.Customer Focus
เป็นการเริ่มต้นจากการให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นอันดับแรก คิดในมุมของลูกค้า คำนึงถึงประสบการณ์การใช้สินค้าและบริการที่ลูกค้าจะได้รับ เพื่อส่งมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าอย่างเหนือความคาดหวังของลูกค้าซึ่งหมายความว่าเราได้มอบสิ่งที่ดีเหนือกว่าความต้องการของมาตรฐานตลาดทั่วไป มันหมดยุคแล้วที่จะลดราคาโปรโมชั่น เพื่อมุ่งเน้นแต่ยอดขาย
Customer Focus เริ่มได้ 3 วิธี คือ
1) การสร้างจิตสำนึกการให้บริการลูกค้า
2) การสร้างวัฒนธรรมบริการ
3) การมุ่งเน้นปรับปรุงรูปแบบการให้บริการลูกค้า
4.Technology in A Must
เบื้องหลังความสำเร็จของธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่กว่า 80% อยู่ด้านหลังหรือกองสนับสนุนของธุรกิจ สิ่งที่เห็นที่หน้าร้านหรือภายในร้านเป็นเพียงแค่ 20% ของกิจการ Information Technology และ Logistics เป็น backbone กระดูกสันหลังหลักของการบริหาร Merchandise และ Supply Chain อย่างไรก็ตาม Technology ต้องนำมาประยุกต์ เพื่อ Productivity และ Creativity
5.Growth via Business Partner
ในยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญของการดำเนินธุรกิจ การร่วมทุนของ Business Partner จะยังคงมีความสำคัญยิ่งและมีความเหมาะสมในการสร้างความสำเร็จในธุรกิจไม่แตกต่างกับยุคดั้งเดิม โดยเฉพาะในภาวะที่ตลาดและสภาพแวดล้อมธุรกิจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
สรุปได้ว่า ภาพรวมของครึ่งปีหลังอาจยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายจากแนวโน้มที่ลดลงในครึ่งปีแรก แต่หากมีการเปลี่ยนแปลงที่เป็นประโยชน์ เช่น การกระตุ้นจากนโยบายรัฐ หรือการปรับตัวที่เหมาะสมจากธุรกิจ อาจช่วยให้มีการฟื้นตัวได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างเชื่องช้าและเนิบนาบ
https://www.bangkokbiznews.com/business/business/1137346