โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้ามาของ “การค้าปลีกออนไลน์” E-commerce ที่มีแพลตฟอร์มออนไลน์และเทคโนโลยี เป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตอย่างก้าวกระโดดนับตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา ได้สร้างแรงกระเพื่อม Disruption สู่ส่วนกลางและลามไปสู่ภูมิภาคอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงจาก traditional retail สู่ smart retail จึงเป็นปัจจัยหลักของการ transform ของธุรกิจค้าปลีกค้าส่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจค้าปลีกภูธร Local Modern Retail ซึ่งในขณะนี้เจเนอเรชันใหม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมบริหารธุรกิจครอบครัวได้มีการปรับระบบบริหารงานให้สอดคล้องกับสภาพตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปมากขึ้น มีการดึงเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาร่วมทรานส์ฟอร์มธุรกิจ ทั้งเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (AI) แชตจีพีที (Chat GPT) ประเมินว่า ในระยะยาว 5 ปีข้างหน้า ค้าปลีกภูธรจะมีการปรับเปลี่ยนโฉม นำเสนอสิ่งใหม่มากขึ้น โดยไม่ยึดติดกับความสำเร็จในรูปแบบเดิมๆ
ผู้เขียนขอนำเทคโนโลยีการค้าปลีกสำคัญๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นมาให้เจ้าของธุรกิจร้านค้าปลีกค้า Local Modern Retail ตระหนักรับรู้และเตรียมความพร้อมเข้าสู่ Smart Retail ในอนาคตอันใกล้
1. เทคโนโลยีการจัดการข้อมูล Data Analytics เนื่องจาก ทุกวันนี้ร้านค้าปลีกทุกร้าน มีระบบฐานข้อมูลลูกค้าเป็นของตัวเอง เทคโนโลยีสำหรับจัดการข้อมูล ข้อมูลหรือ Data มีความสำคัญอย่างมากต่อการขับเคลื่อนให้ธุรกิจค้าปลีก ก้าวไปสู่การเป็น Smart Retail ดังนั้น ไม่ต้องเก็บทุกข้อมูลที่มี แต่ต้องเก็บทุกข้อมูลที่ต้องใช้ และร้านค้าทุกร้านจะต้องมีระบบ Data Analytics เป็นของตัวเอง เนื่องจาก ผู้บริโภคยุค 4.0 ต้องการสินค้าและบริการที่มีความเฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น การใช้เทคโนโลยีด้าน Data Analytics เข้ามาวิเคราะห์ข้อมูลของลูกค้าอย่างละเอียด เพื่อพัฒนาสินค้าและ บริการที่ตอบโจทย์ลูกค้า มากที่สุด จึงไม่ได้มีเพียงแค่ธุรกิจร้านค้าขนาดใหญ่อีกต่อไป แต่เป็นสิ่งที่ร้านค้าทุกระดับจำเป็นต้องมีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
2.เทคโนโลยีร้านค้าไฮบริด หรือ Omnichannel ในโลกของการค้าปลีก พฤติกรรมในการตัดสินใจจับจ่ายของลูกค้าเริ่มซับซ้อนมากขึ้น ด้วยอิทธิพลของอีคอมเมิร์ซและการแพร่กระจายของช่องทางดิจิทัล ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้นในการค้นหาและซื้อผลิตภัณฑ์ เป็นผลให้ร้านค้าปลีกหันมาใช้เทคโนโลยีแบบไฮบริด และ Omnichannel มากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า การเข้าใจเส้นทางของลูกค้าแบบไฮบริดประกอบด้วยช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ร่วมกัน ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าในร้านค้า ออนไลน์ หรือผ่านทั้งสองช่องทางร่วมกัน ในทางกลับกัน การเดินทางของลูกค้า Omnichannel มอบประสบการณ์ที่ราบรื่นในทุกช่องทาง ช่วยให้ลูกค้าสลับระหว่างการชอปปิงออนไลน์และออฟไลน์ได้โดยไม่พลาดจังหวะจึงเป็นที่แน่ชัดว่าลูกค้าแบบไฮบริดและ Omnichannel จะมีบทบาทสำคัญในอนาคตของการค้าปลีก
3.การชอปปิงแบบไร้เงินสดและแบบไร้สัมผัส เนื่องจากเทคโนโลยีด้านการเงิน (Fintech) มีการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดนวัตกรรมและระบบการชำระเงินรูปแบบใหม่ๆ ที่สะดวกและปลอดภัยกว่าการใช้เงินสดอย่างที่เป็นอยู่ คงไม่ใช่เรื่องแปลกใจอะไรถ้าเราจะเข้าสู่ยุค “สังคมไร้เงินสด” (Cashless Society) โดยสมบูรณ์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ดังนั้น ธุรกิจร้านค้าจะต้องมีระบบ Payment รูปแบบต่าง ๆ เพื่อรองรับการชำระเงินได้อย่างสะดวกและปลอดภัยมากที่สุด จากรายงาน Global Payment Report 2023 สำรวจรูปแบบวิธีการชำระเงินและพฤติกรรมของผู้บริโภค ทั้งการทำธุรกรรมออนไลน์ (E-Commerce) และธุรกรรม ณ จุดขาย (Point of Sell POS) พบว่า ประเทศไทยยังคงมีการใช้เงินสดคิดเป็น 56% ซึ่งลดลงจาก 85% เมื่อปี 2018 ผ่านธุรกรรม POS ในขณะที่ การชำระเงินแบบ Real Time หรือที่เรียกว่า A2A (Account to Account) Payment อย่าง พร้อมเพย์ มีสัดส่วนถึง 45% ของการชำระเงินผ่านทั้ง E-commerce และ POS นับได้ว่ามีสัดส่วนสูงที่สุดในเอเชียแปซิฟิก สำหรับเทคโนโลยี Contactless จะแบ่งออกเป็น 2 แบบหลักๆ คือในรูปแบบของบัตร และรูปแบบของแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟนซึ่งร้านค้าต้องเข้าใจในเทคโนโลยีและสามารถให้บริการได้ในทุกรูปแบบ
4.เทคโนโลยี 5G & Cloud เครื่องมือที่จะสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจ 5G เป็นเทคโนโลยีเซลลูลาร์ไร้สายยุคที่ 5 ซึ่งให้ความเร็วในการอัปโหลดและดาวน์โหลดที่สูงขึ้น ให้การเชื่อมต่อที่สม่ำเสมอมากขึ้น และให้ศักยภาพที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับเครือข่ายยุคก่อนหน้านี้ 5G นั้นเร็วกว่าและเชื่อถือได้มากกว่าเครือข่าย 4G ที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันอย่างมาก เทคโนโลยี 5G & Cloud จะกลายเป็นโซลูชันสำคัญที่เข้ามาช่วย ลดความซับซ้อนและลดต้นทุนของภาคธุรกิจค้าปลีก ตั้งแต่เรื่องของ
(1) การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสินค้าคงคลัง
(2) ปรับปรุงความปลอดภัยของข้อมูล
(3) ลดค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที
(4) ลดต้นทุนในการจัดซื้อฮาร์ดแวร์พื้นที่จัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ ช่วยให้ภาคธุรกิจค้าปลีกมีโอกาสทำกำไรได้มากขึ้น
5. ดังนั้น ภาคธุรกิจค้าปลีกจะนำ 5G & Cloud มาสร้างประสบการณ์แบบผสมผสานให้กับลูกค้า เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าในทุกรูปแบบได้อย่างรวดเร็วและครบถ้วนมากกว่าเดิม โดยอาจจะมีตั้งแต่
(1) สร้างแพลตฟอร์มร้านค้าที่ปลอดภัย โต้ตอบกับลูกค้าได้แบบเรียลไทม์แต่ยังคงไว้ซึ่งความปลอดภัยข้อมูลของลูกค้า
(2) นำนวัตกรรมมาช่วยวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้า ซึ่งด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงจะช่วยให้คาดการณ์แนวโน้มความต้องการของลูกค้าทำได้อย่างแม่นยำ และจะทำให้ผู้ประกอบการนำเสนอสินค้าได้ตรงกับใจลูกค้ามากขึ้น
(3) เปิดประสบการณ์ซื้อสินค้าแบบ Interactive ผ่าน เทคโนโลยี VR และ Metaverse เป็นต้น
อ่านถึงตรงนี้แล้ว เราน่าจะเห็นภาพได้อย่างชัดเจนว่าเทคโนโลยี ค้าปลีกเบื้องต้นที่ต้องนำมาเพื่อพัฒนาศักยภาพธุรกิจ ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งขนาดใหญ่ได้นำไปใช้งานจริงแล้วในปัจจุบันหลายต่อหลายแห่งมากมาย ถึงเวลาแล้วที่ธุรกิจขนาดกลางอย่าง Local Modern Retail ในไทยที่มีมากกว่า 300 บริษัทต้องหันมาพิจารณาการใช้เทคโนโลยีค้าปลีกเพื่อมาเสริมสร้างประสิทธิภาพและก้าวเข้าสู่ Smart Retail อย่างจริงจัง
เริ่มต้นวันนี้ยังไม่สายครับ
https://www.bangkokbiznews.com/business/business/1147653