ไม่ว่าจะเป็นการปรับมาตรการวีซ่า การส่งเสริมการเชื่อมโยงเครือข่ายการเดินทางในภูมิภาค หรือ การเน้นขายจุดหมายปลายทางในประเทศที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรมเพื่อผลักดัน soft power ทั้งหมด ล้วนเป็นความพยายามที่ดีในภาพใหญ่ของการท่องเที่ยว
แต่แน่นอน ขณะที่เราเดินหน้าชิง “เค้ก” ดึงนักท่องเที่ยวเข้าประเทศตามแผนนโยบาย ประเทศอื่นๆ ต่างก็ปรับกลยุทธ์ลงสนามมาแย่งส่วนแบ่งเค้กชิ้นนี้อยู่เช่นกัน แล้วทำอย่างไร? ประเทศไทยจึงจะสามารถไปถึงเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ได้ ท่ามกลางการแข่งขันอันแสนดุเดือดในสมรภูมิการท่องเที่ยวนี้
Quality, not quantity นักท่องเที่ยวคุณภาพสูง
อุตสาหกรรมท่องเที่ยวโลกมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2567 องค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) รายงานว่าช่วง 9 เดือนแรกของปี การท่องเที่ยวระหว่างประเทศมีการเติบโต 15% แต่การเพิ่มขึ้นก็ได้มาพร้อมกับสถานการณ์แข่งขันของอุตสาหกรรมที่สูงขึ้น โดยสิ่งที่บรรดาแหล่งท่องเที่ยวในทุกประเทศต้องการ คือ “นักท่องเที่ยวคุณภาพสูง” ทั้งจากต่างประเทศและภายในประเทศของตนเอง
แม้ว่านักท่องเที่ยวคุณภาพสูง จะเป็นกลุ่มที่มีจำนวนน้อย แต่มีแนวโน้มใช้จ่ายระหว่างการท่องเที่ยวสูง เลือกซื้อสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ แถมยังท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ และไม่สร้างผลกระทบทางลบให้กับแหล่งท่องเที่ยว เมื่อเทียบกับนักท่องเที่ยวทั่วไปที่มีอัตราการใช้จ่ายต่ำถึงปานกลาง การท่องเที่ยวที่เน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพอาจนำมาซึ่งความเสียหาย เพราะต้องใช้ทรัพยากรมากขึ้นในการให้บริการ ประเทศที่พึ่งพาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจึงหันมาสนใจ “นักท่องเที่ยวศักยภาพสูง” มากขึ้น
ปักหมุดทำความเข้าใจในกลุ่มเป้าหมาย
การวางกลยุทธ์ใด ย่อมเริ่มต้นจากการรู้จักเป้าหมาย หลักการพื้นฐานนี้ยังคงใช้ได้ดีทั้งในภาคธุรกิจไปถึงนโยบายชาติ ดังนั้น หากปักธงดึงดูดนักท่องเที่ยว หรือสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นจุดหมาย ต้องทำความเข้าใจ “นักท่องเที่ยว” โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง (high-quality tourist) ว่า
…อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้นักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมายตัดสินใจออกเดินทาง
…อะไรทำให้เขาเลือกเดินทางไปประเทศหนึ่งแทนอีกประเทศหนึ่ง
…อะไรคือสินค้าและบริการที่เขาจะเลือกซื้อระหว่างการเดินทางท่องเที่ยว
…อะไรคือสิ่งที่ทำให้เขาเกิดความประทับใจจนอยากเดินทางกลับมาอีกครั้งและบอกต่อกับเพื่อนๆ และที่สำคัญ
...เขาเป็นใคร อยู่ที่ไหน และเราจะสื่อสารกับพวกเขาได้อย่างไร
...และ มีปัจจัยใดที่จะทำให้เขาเลือกตัดสินใจปักประเทศไทยเป็นหมุดหมายของการเดินทาง
“อาหารและเครื่องดื่ม” ปัจจัยสำคัญดึงดูดนักท่องเที่ยว
รายงานล่าสุดของ Oxford Economics ซึ่งทำการสำรวจนักท่องเที่ยวกว่า 1,800 คน จาก 5 ประเทศที่มีแนวโน้มเดินทางมาท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย พบว่า “อาหารและเครื่องดื่ม” เป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยว โดย 71% ของกลุ่มตัวอย่างยกให้คุณภาพของอาหารและเครื่องดื่มเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกจุดหมายในการเดินทางท่องเที่ยว และประเทศที่สามารถมอบประสบการณ์สุด “พรีเมียม” ผ่านอาหารและเครื่องดื่มจะดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากกว่าประเทศที่มีตัวเลือกอาหารเครื่องดื่มที่แบบทั่วไปถึง 2.5 เท่า!
จากรายงานของ Oxford Economics ให้คำจำกัดความ อาหารและเครื่องดื่มที่มีคุณภาพ ไว้ดังนี้
1. อาหารและเครื่องดื่มที่มีคุณภาพ บ่งชี้ด้วยความหลากหลายของเมนูคุณภาพสูง จากเชฟที่มีรางวัลการันตี และเครื่องดื่มต่างๆ รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ครบทุกระดับ ตั้งแต่แบบคุ้มค่า มาตรฐาน ไปจนถึงระดับพรีเมียม
2.ตัวเลือกที่หลากหลาย เข้าถึงได้ง่าย นักท่องเที่ยวชอบสถานที่ท่องเที่ยวที่มีผลิตภัณฑ์ เบียร์ ไวน์ สุราพรีเมียม และค็อกเทลที่นำเสนออย่างสร้างสรรค์ มี story นอกจากนี้ ยังควรเข้าถึงง่าย และสะดวก เปิดให้บริการตั้งแต่เช้าจนดึกให้สามารถวางแผนเที่ยวได้อย่างยืดหยุ่น
3.การบริการชั้นเยี่ยมและความเชี่ยวชาญของผู้ให้บริการ ประสบการณ์การกินดื่มที่ดี ย่อมมาจากพนักงานร้านอาหารและบาร์ที่มีทักษะและผ่านการฝึกอบรม ไปจนถึงมิกโซโลจิสต์หรือซอมเมอลิเยร์ที่เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์
นโยบายที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย
จาก insight ที่ได้จากรายงานฉบับดังกล่าว สรุปได้ว่าความพรีเมียมของการกินดื่ม เป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวมองหา โดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยวระดับไฮเอนด์ ซึ่งโชคดีเหลือเกินที่ประเทศไทยมีนโยบายที่ให้ความสำคัญกับการยกระดับประสบการณ์การท่องเที่ยวเหนือระดับ สอดคล้องกับความต้องการของนักท่องเที่ยวที่เป็นกลุ่มเป้าหมายแล้ว ที่เหลือที่จะดีขึ้นกว่านี้ได้ ย่อมเป็นการปรับนโยบายอื่นๆ ให้ตอบโจทย์ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพและศักยภาพของกลุ่มผู้ให้บริการอาหารเครื่องดื่มในประเทศ ไปจนถึงการพิจารณาปรับแก้กฎหมายที่สามารถทำได้ทันทีโดยไม่ใช้งบประมาณ โดยเฉพาะการยกเลิกการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเวลา 14.00-17.00 น. ตลอดจนการสนับสนุนด้านมาตรการภาษี ซึ่งทั้งหมดจะมีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสในการเติบโต และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการของประเทศไทย
กล่าวโดยสรุป อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เป็นปัจจัยเกื้อหนุนสำคัญของ GDP ของกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สนามการแข่งขันนี้ดุเดือดจริง แต่หากรู้เท่าทัน ปรับตัวไว ประเทศไทยแข่งขันได้อย่างแน่นอน หากได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน เชื่อว่าประเทศไทย จะผงาดขึ้นเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้ไม่ยาก!
https://www.bangkokbiznews.com/business/business/1154525