บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิได้ผูกพันเป็นความเห็นขององค์กรที่สังกัด
นับตั้งแต่รับทราบผลการเลือกตั้งเดือน มิ.ย.2566 ตลอดถึงการจัดตั้งรัฐบาลชุดนายกรัฐมนตรีคุณเศรษฐา ทวีสิน เดือน ส.ค.2566 จนมาถึงการจัดตั้งรัฐบาลนายกรัฐมนตรีคุณแพทองธาร ชินวัตร เดือน ส.ค.2567 ภาคธุรกิจค้าปลีกค้าส่งและบริการ ซึมยาว! มาตลอดและอย่างต่อเนื่อง
จากผลการสำรวจดัชนี RSI ภาคธุรกิจค้าปลีกและบริการจากเดือน ม.ค.2566 จนถึงเดือน ต.ค.2567 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก RSI (Retail Sentimental Index ) ขึ้นมายืนเหนือระดับ 50 จุด เพียง 2 ช่วง กล่าวคือ ช่วงเดือน ม.ค.2567 และเดือน ต.ค.2567 นอกนั้น ดัชนี RSI ลดลงต่ำกว่า 50 จุดต่อเนื่อง
สาเหตุหลัก ก็เป็นเรื่องของงบประมาณปี 2567 (ต.ค.2566-ก.ย.2567) กว่าจะผ่านการพิจารณาจากรัฐสภา ก็ล่วงเข้าสู่ เดือน พ.ค.2567 ส่งผลให้เม็ดเงินจากงบประมาณที่ต้องไหลเข้าระบบเศรษฐกิจกว่า ล้านล้านบาท พร่องหายไปจากระบบเศรษฐกิจ กำลังซื้อของประชาชนฐานรากเหือดแห้งและโหยหาโครงการกระตุ้นจากเศรษฐกิจภาครัฐ ซึ่งกว่าจะได้มาก็ล่วงไปจน ก.ย. เดือนสุดท้ายของงบประมาณปี 2567 นั่นก็คือ การแจกเงิน 10,000 บาท ให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบางจำนวน 14.8 ล้านคน
ภาคการค้าปลีกค้าส่งและบริการ ปี 2567 คึกเดือนเดียว
ส่งผลให้ภาพรวม ธุรกิจค้าปลีกและบริการในปี 2567 จะมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 4.4 ล้านล้านบาท เติบโตราว 2-4 % เมื่อเทียบกับ GDP ปี 2567 ที่คาดว่าจะเติบโตเพียง 2.6% โดยคาดว่า ร้านค้าปลีกประเภท Fashion Lifestyle and Specialty Store และ Restaurant Chain (ขึ้นอยู่กับประเภทของร้านค้าปลีก) จะเติบโตราว 5-7% ร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ตกแต่ง ซ่อมบำรุง เติบโตราว 2-3% ร้านค้าประเภท Convenience store Supermarket Hypermarket และร้านค้าส่งอุปโภคบริโภค เติบโตราว 0-3% เมื่อพิจารณาในมิติของภูมิภาค การเติบโตจะยังกระจุกตัวในกรุงเทพปริมณฑล ภาคตะวันออก และในเมืองตามจังหวัดท่องเที่ยว
โดยสรุป ภาคการค้าปลีกค้าส่งและบริการ ปี 2567 จะฟื้นตัวช้าๆ อย่างไม่สมดุล ด้วยปัจจัยดังต่อไปนี้
1.วางเป้าเติบโตเกินตัว-จนกินตัว รัฐบาลชุดแรกตั้งเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2567 ไว้ที่ 3.5% ขยายตัวจากปี 2566 ที่ขยายตัว 1.9% เป็นผลให้ภาคเอกชนคาดการณ์การผลิตและสินค้าคงคลัง Inventory เกินจากที่ควรจะเป็นจำนวนมาก จากผลตอบรับดัชนีผู้ค้าปลีก RSI เดือน มิ.ย. พบว่า ผู้ประกอบการถึง 66% ระบุสาเหตุจากยอดขายน้อยกว่าที่คาดการณ์ต้นปีไว้มาก 37% ของผู้ค้าปลีกค้าส่งมีสต็อกสินค้าเกินกว่าความเหมาะสมที่ 3 เดือน 13% มีสต็อกเกินกว่า 6 เดือน และ 6% มีสต็อกเกินกว่า 9 เดือน
2.การลงทุนภาคเอกชนหดตัวลงต่อเนื่อง ในปี 2566-2567 การลงทุนภาคเอกชนติดลบไปถึง 6.8% ต่อปี หดตัวทั้งด้านการลงทุนในเครื่องจักรและการก่อสร้าง ทำให้แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากภาคเอกชนหายไป ส่งผลให้การจ้างงานและการบริโภคหดตัวลงด้วย
3.การเมืองส่งผลงบประมาณปี 2567 ล่าช้า ทำให้การเบิกจ่ายเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจล่าช้าตามไปด้วย โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุน จบปีงบประมาณเดือน ก.ย.2567 มียอดลงทุนเพียง 680,000 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายเพียง 65.2% จากรายจ่ายลงทุน 1.05 ล้านล้านบาท เป็นผลให้เม็ดเงินพร่องไปจากระบบ
4.หนี้ครัวเรือน ยังอยู่ในระดับสูงบั่นทอนกำลังซื้อ โดยสูงทะลุ 90% ของ GDP มาแล้ว 4 ปี ทำให้พี่น้องประชาชนจับจ่ายใช้สอยได้ไม่เต็มที่ เพราะได้รายได้มาก็ต้องนำไปผ่อนหนี้ก่อน
5.หนี้ภาคธุรกิจก็อยู่ในระดับสูงเช่นกัน โดยเฉพาะกิจการร้านค้า SMEs ที่ยังมีปัญหาการผิดนัดชำระหนี้
6.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่แรงพอ โดยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการในช่วงปลายเดือน ก.ย.2567 โดยการให้เงิน 10,000 บาทต่อคน จำนวน 14.5 ล้านคน คิดเป็นเม็ดเงินประมาณ 1.45 แสนล้านบาท
7.ความเสียหายจากน้ำท่วม ทำลายเศรษฐกิจ เรือกสวนไร่นา บ้านเรือน รถยนต์ อุปกรณ์ทำมาหากิน ถนนหนทาง ได้รับความเสียหาย ต้องใช้เวลาในการฟื้นฟู
8.ภาคค้าปลีกและบริการฟื้นตัวแบบไม่แข็งแกร่ง จากการฟื้นตัวมาจากภาคการท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี ซึ่งมีผลน้อยมากต่อโครงสร้างค้าปลีกและบริการ
ทำไมยัง “รอคอย” มาตรการภาครัฐกระตุ้นเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจปี 2567 กำลังฟื้นตัว ทำให้หลายคนอาจจะสงสัยว่า เศรษฐกิจกำลังฟื้นแล้วทำไมต้องไปกระตุ้นอะไรมากมาย? จากข้อเท็จจริง สาเหตุสำคัญที่เศรษฐกิจฟื้นตัว มาจากการท่องเที่ยวและการส่งออกเป็นหลัก ซึ่งประชาชนฐานล่าง และ กลุ่มเปราะบาง รวมถึงผู้สูงอายุ รวมรวมกันราว 17-18 ล้านคน แทบไม่ได้อานิสงส์ใดๆ อีกทั้งยังมีหนี้ครัวเรือนสูงมาก!
ดังนั้นภาคการค้าและบริการเห็นว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจที่เห็นผลเร็ว เพื่อเรียกความเชื่อมั่น จากนั้นก็ต้องมีโครงการที่กระตุ้นอย่างต่อเนื่องและหลากหลาย ตรงเป้าหมาย โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่แม้จะเป็นการแจกเงินหรือด้วยกลไกใดๆ ก็ตามก็จะไม่สูญเปล่า
https://www.bangkokbiznews.com/business/business/1161350