SSSG (MoM) ลดลงจาก 46.0 จุด เป็น 45.6 = ลดลง 0.4 จุด
Spending Per Bill ลดลงจาก 48.4 จุด เป็น 39.0 = ลดลง 9.4 จุด
Frequency of Shopping ลดลงจาก 47.6 จุด เป็น 39.0 = ลดลง 8.6 จุด
สะท้อนถึงการใช้จ่ายของผู้บริโภคมีสัญญาณอ่อนแอลง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ Easy E-Receipt ไม่ได้ช่วยส่งเสริมให้เกิดการจับจ่ายเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคเริ่มระมัดระวังการจับจ่ายและกังวลถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ ที่อาจส่งผลในอนาคตอันใกล้
อีกทั้ง ดัชนียังลดลงทุกภูมิภาคและทุกประเภทของร้านค้า ยกเว้นร้านค้าประเภทห้างสรรพสินค้า แฟชั่นและความงาม ซึ่งเป็นการลดลงขององค์ประกอบดังกล่าวมากกว่าที่คาดหมาย กำลังซื้อผู้บริโภคฐานล่างซึ่งอ่อนแออยู่ก็ไม่ได้ดีขึ้น และลามถึงกำลังซื้อกลุ่มรายได้กลางขึ้นบนอย่างชัดเจน ซึ่งกลุ่มนี้ ปีที่ผ่านมายังคงมีกำลังซื้ออยู่ ข้ามปีมาเริ่มมีพฤติกรรมที่ระมัดระวังในการใช้จ่ายอย่างเห็นได้ชัด
สะท้อนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ Easy E-Receipt ที่พุ่งเป้าไปยังกลุ่มนี้ ไม่ปัง...ดังคาด ยอดขายใกล้เคียงเมื่อเทียบปีที่แล้ว ขณะที่ร้านค้ามีความพร้อมกว่าปีที่แล้วมาก สะท้อนถึงกำลังซื้อกลุ่มผู้มีรายได้ประจำเริ่มแสดงสัญญาณอ่อนตัวลง อีกทั้ง มาตรการ Easy E-Recipt ปีนี้ 2568 กำหนดให้วงเงิน 50,000 บาทเหมือนกัน แต่แบ่งเป็น 2 ก้อน คือ ซื้อสินค้าทั่วไปลดลงเหลือ 30,000 บาท และแบ่งส่วนที่เหลือ 20,000 บาท ให้ไปซื้อสินค้า OTOP (ที่ต้องผ่านการรับรองจากกรมพัฒนาชุมชน) และซื้อสินค้าจากร้านค้าวิสาหกิจชุมชน และร้านค้าวิสาหกิจเพื่อสังคม (ซึ่งหายากมาก)
ประเด็นเพิ่มเติมประจำเดือน ก.พ.
ประเมินผลของมาตรการ Easy E-Receipt ปี 2568 เทียบปี 2567 พบยอดขายในช่วง 45 วันของมาตรการ Easy E-Receipt ปี 2568 ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันปี 2567 แต่เมื่อพิจารณารายละเอียดตามภาพ จะพบว่า ผู้ประกอบการกว่า 56% ระบุ ยอดขายใกล้เคียงเดิม ทั้งๆ ที่ปีนี้ร้านค้ามีความพร้อมเตรียมรับมาตรการมากกว่า และมีเพียง 21% ที่คาดว่ายอดขายจะเพิ่มขึ้น แต่ไม่เกิน 10% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มห้างสรรพสินค้า ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นหลัก
Digital Wallet เฟส 3 มากระตุ้นช่วงนี้ดีไหม?
จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก RSI ที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องมา 2 เดือนทั้งๆ ที่ยังอยู่ช่วงต้นปี สะท้อนถึงกำลังซื้อที่ถดถอย และความเชื่อมั่นลดลง การออกมาตรการ Digital Wallet 10,000 บาท ที่ยังมีประชาชนที่ใช้สิทธิเหลืออยู่ 14.5 ล้านคน นับว่าเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีประโยชน์ระดับหนึ่งแม้จะเป็นการกระตุ้นช่วงสั้นๆ แต่ก็น่าจะฟื้นการจับจ่ายได้บ้าง
อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 10 มี.ค. “บอร์ดเศรษฐกิจ” เคาะแจกเงินหมื่นเฟส 3 วัยรุ่น 16-20 ปี จำนวน 2.7 ล้านคน กำหนดเริ่มช่วงปลายไตรมาส 2 หรือ ต้นไตรมาส 3 โดยให้เหตุผลว่า ประชากรวัย 16-20 ปี เป็นกลุ่มที่ไม่มีข้อจำกัดการรับรู้เรื่องเทคโนโลยี
ซึ่งผู้เขียนกลับมีความเห็นว่า โครงการ Digital Wallet ไม่ได้มีปัญหา หรือ ข้อจำกัดการใช้ของประชาชน ปัญหาหลักอยู่ที่พ่อค้าแม่ค้า ร้านค้าต่างๆ ในการรับ Digital Wallet ที่ต้องมีการหมุนของ Digital Wallet มากกว่า 1 รอบ ซับซ้อนกว่าระบบ “คนละครึ่ง” และขั้นตอนในการลงทะเบียนร้านค้ามีมากกว่า อีกทั้งการมาซอยย่อย เฟส 3 เป็น เฟส 3.1 รองรับประชาชนแค่ 2.7 ล้านคนหรือเม็ดเงินเข้าระบบเพียง 27,000 ล้านบาท ซึ่งจะมี Impact น้อยกว่าที่จะใช้เฟส 3 พร้อมกันทีเดียว 1.45 แสนล้านบาท ตามประโยคโบราณที่ว่า “อดเปรี้ยวไว้กินหวาน” น่าจะดีกว่าไหม !!!!!!!!!
https://www.bangkokbiznews.com/business/business/1172019