
ด้วยในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 ก.พ.2568 นายกรัฐมนตรีเสนอว่า โดยที่รัฐบาลประกาศนโยบายให้ ปี 2568 เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวไทย Amazing Thailand Grand Tourism and Sports Year 2025
โดยจะส่งเสริมการจัดเทศกาลระดับโลกต่างๆ รวมถึงจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวตลอดทั้งปีทั้งในเมืองหลักและเมืองน่าเที่ยว ซึ่งจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ร้านอาหาร และสถานบริการอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับข้อจำกัดทางกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันในการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่นักท่องเที่ยว ที่เป็นอุปสรรคและข้อจำกัดในด้านต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะ การกำหนดวัน-เวลา ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาทิ การกำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันสำคัญทางศาสนา 5 วัน ไว้ตามเดิม ได้แก่ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา และวันออกพรรษา และ การกำหนดห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวลา 14.00-17.00 น. เป็นต้น
ความเป็นมาประกาศกำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันสำคัญทางศาสนา 5 วัน
ปี 2551 ในสมัยรัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ได้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อ 4 ก.ค.2552 เพื่อกำหนด “วันห้ามขาย” ให้ชัดเจนว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา ยกเว้นการขายในโรงแรม ตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม” โดยนับตั้งแต่ 24.00 น. ของวันนั้น ถึง 24.00 น. ของวันรุ่งขึ้น
ปี 2557 ในรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ก็ได้เพิ่มวันห้ามขายสุราเข้าไปจากเดิม ในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี “ห้ามผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา และวันออกพรรษา ยกเว้นการขายเฉพาะร้านค้าปลอดอากรภายในอาคารท่าอากาศยานนานาชาติ” เพื่อเพิ่มวันออกพรรษาเข้าไปปี 2558 พล.อ.ประยุทธ์ ได้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี โดยอ้างอิงข้อความ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ทำให้สถานะของประกาศคณะปฏิวัติกลายเป็นกฎหมายบังคับใช้ คือ ห้ามผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวลาอื่น นอกจากตั้งแต่เวลา 11.00 น.-14.00 น. และ 17.00 น.-24.00 น. ยกเว้นการขายในอาคารท่าอากาศยานนานาชาติ และการขายในสถานบริการ
ปี 2566 ในช่วงรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” ได้ปรับปรุงประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 คือ วันอาสาฬหบูชา วันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา วันเข้าพรรษา และวันออกพรรษา ให้สามารถจำหน่ายได้ในอาคารอากาศยานนานาชาติ 6 แห่ง ได้แก่ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต หาดใหญ่ เพื่อให้เกิดการใช้จ่าย สร้างรายได้ และเป็นการส่งเสริมภาคเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศ
ข้อเสนอปรับปรุงเพิ่มเติม "ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. .... "
ข้อเสนอการแก้ไขปรับปรุงประกาศซึ่งห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใน 5 วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา “โดย กำหนดข้อยกเว้นเพิ่มเติมให้กับการขายในบางสถานที่” เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคกับการประกอบอาชีพจนเกินไป และสอดคล้อง กับนโยบายด้านการท่องเที่ยวของรัฐบาล โดยยังคงไว้ซึ่งหลักการควบคุมเครื่องดื่ม
กำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันสำคัญทางศาสนา 5 วัน ไว้ตามเดิม ได้แก่ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษาและวันออกพรรษา โดยเพิ่มเติมข้อยกเว้น จากเดิม ยกเว้นเฉพาะการขายในอาคารที่ให้บริการแก่ผู้โดยสารภายในสนามบินที่ให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศ ให้เพิ่มเติมข้อยกเว้น สำหรับการขายในสถานที่ ดังนี้
1. การขายในสถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ
2. การขายในสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่หรือบริเวณที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
3. การขายในโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม
4. การขายในสถานที่ซึ่งใช้จัดกิจกรรมพิเศษระดับชาติหรือนานาชาติ และมีคนจำนวนมากไปทำกิจกรรมร่วมกันตามรายชื่อสถานที่ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด โดยคำแนะนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
5. นอกจากนั้น ยังกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมให้ผู้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ที่ได้รับการยกเว้น ต้องจัดให้มีการคัดกรองและมาตรการที่จำเป็นเพื่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม ความปลอดภัยของประชาชนและการจำกัดการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ไม่เหมาะสมของเด็กและเยาวชน
ควรแก้ไขกฎหมายห้ามขายช่วงบ่าย 2-5 โมงเย็น ด้วย
ที่มาของกำหนดเวลาขายเหล้า คงต้องย้อนไปได้ถึงยุคคณะปฏิวัติ โดยจอมพลถนอม กิตติขจร ที่มี “ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 253” เมื่อวันที่ 16 พ.ย.2515 นัยว่า ในสมัยนั้น ข้าราชการมักนิยมไปนั่งดื่มสุราสังสรรค์กันตั้งแต่มื้อกลางวัน แล้วก็ติดลมไปจนบ่ายคล้อย ไม่เป็นอันทำงานทำการ เพื่อป้องกันข้าราชการเถลไถล จึงออกประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าว โดยในข้อ 2 วรรคหนึ่ง ระบุว่า…
“ห้ามมิให้ผู้ได้รับอนุญาตขายสุราประเภทที่ 3 ถึงประเภทที่ 6 ตามความในกฎหมายว่าด้วยสุรา หรือบุคคลใดซึ่งกระทำการเพื่อประโยชน์ของผู้ได้รับใบอนุญาตขายสุราดังกล่าว จำหน่ายสุราทุกชนิดในเวลาอื่น นอกจากตั้งแต่เวลา 11.00 นาฬิกา ถึงเวลา 14.00 นาฬิกา และตั้งแต่เวลา 17.00 นาฬิกา ถึงเวลา 24.00 นาฬิกา เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมตำรวจสำหรับนครหลวงกรุงเทพธนบุรี หรือผู้ว่าราชการจังหวัดสำหรับจังหวัดอื่น”
ทั้งนี้ สังคมวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมได้เปลี่ยนไปจากเดิมเมื่อ 50 ปีมากมาย สังคมธุรกิจคนทำงานก็ไม่ได้มีการดื่มสังสรรค์ในช่วงพักเที่ยงแต่อย่างไร ระเบียบวินัยทั้งภาครัฐและเอกชนก็เข้มงวดมาก ซึ่งคนไทยวัยทำงานที่ดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเที่ยงยันบ่ายในปัจจุบันแทบจะไม่พบได้เห็นกันเลย การให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงบ่าย 14.00-17.00 น. ส่วนใหญ่จึงเป็นไปเพื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก เท่านั้น
หากจะบอกว่า การห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงบ่าย 14.00-17.00 น. ก็เพื่อไม่ให้จำหน่ายแก่เยาวชน นักเรียน นักศึกษา ซึ่งก็ไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ บทกำหนดโทษจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี หนักกว่า บทกำหนดโทษการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นอกเวลาที่กำหนดหลายเท่า เพราะโทษการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี เป็นคดีอาญา ทั้งจำทั้งปรับ การไม่จำหน่ายเครื่องดิ่มแอลกอฮอลแก่เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี จึงไม่ต้องกำหนดเวลา เพราะไม่สามารถจำหน่ายให้ได้ทุกกรณี
จึงเห็นควรแก้ไขกฎหมายให้สามารถขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างเวลา 14.00 น. ถึง 17.00 น. ด้วย เนื่องจากเป็นการเว้นระยะเวลาขายที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และลักษณะการประกอบกิจการของผู้ประกอบกิจการทั่วไปโดยเฉพาะ ภัตตาคาร ร้านอาหาร โรงแรม
https://www.bangkokbiznews.com/business/business/1173146